อีกไม่นานจะได้เห็นการแข่งขัน “อี-สปอร์ต” (E-Sport) ที่ไม่ใช่การแข่งขันเกมแบบทัวร์นาเมนต์ทั่วไป แต่เป็นการแข่งขันในรูปแบบ “กีฬา” อย่างเป็นทางการใน “ซีเกมส์” (SEA GAMES 2019) เรียกได้ว่าเป็นมิติใหม่แห่งวงการกีฬา ที่ฉีกแปลกแหวกแนวการแข่งขันกีฬาทั่วไปแบบที่คนไทยคุ้นชิน … พร้อมหรือยังที่จะเชียร์ไปด้วยกัน

ปฏิเสธไม่ได้ว่า สำหรับคนไทยแล้ว “อี-สปอร์ต” ก็ไม่ต่างจากการเล่นเกมทั่วไป และ “เกม” ในภาพจำคนไทยก็มีแต่ด้านลบ เมื่อในวันนี้ “อี-สปอร์ต” กำลังก้าวมาเป็นเกมการแข่งขันในรูปแบบ “กีฬา” ก็คงหนีไม่พ้นการคัดค้าน และมองว่า “อี-สปอร์ต” ไม่ใช่กีฬา เพราะไม่มีการออกกำลังแขนขาในการแข่งขัน และไม่ได้ช่วยให้ผู้เล่นมีสุขภาพร่างกายแข็งแรง

ประเทศไทยพร้อมหรือยังกับ “อี-สปอร์ต”
ฝ่ายเห็นด้วย มองว่า อี-สปอร์ต เป็นกีฬา ใช้ทักษะ มีการวางกลยุทธ์ มีโอกาสในการพัฒนาเป็นตัวแทนประเทศไทยสร้างชื่อเสียง
ฝ่ายไม่เห็นด้วย มองว่า อี-สปอร์ต ไม่ถือเป็นกีฬา เด็กและเยาวชนจำนวนมากต้องติดเกม เกิดผลกระทบต่อสุขภาพ

“อี-สปอร์ต ไม่ต่างจากกีฬาทั่วไป”

นี่คือ มุมมองของสมาคมกีฬาอีสปอร์ตแห่งประเทศไทยที่ยืนยันว่า นักกีฬา อี-สปอร์ต มีการฝึกฝนอย่างเคร่งครัดเหมือนนักกีฬาอื่นๆ และมีการฝึกซ้อมร่างกายเฉกเช่นเดียวกัน ขณะที่การแข่งขันแบบทัวร์นาเมนต์ก็คล้ายกับการแข่งขันแบบลีกส์ของกีฬาอาชีพอื่นๆ แม้ในตอนนี้ยังมีข้อเป็นห่วงว่า “อี-สปอร์ต” จะทำให้เด็กติดเกมและเสียอนาคต แต่มั่นใจว่าจะสามารถเปลี่ยนความเชื่อนั้นได้ เพราะการเล่นเกมไม่ทำร้ายใคร และสามารถเป็นประโยชน์กับตัวผู้เล่นได้ หากมีการฝึกฝนและตั้งใจ รวมถึงในอนาคตอุตสาหกรรม “อี-สปอร์ต” จะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้อย่างมหาศาล

ด้าน มุมมองจากการกีฬาแห่งประเทศไทย หรือ กกท. เห็นว่า อี-สปอร์ต ตรงกับเกณฑ์ของการกีฬาทั้งหมด ติดเพียงแค่ผลกระทบที่ตามมาเท่านั้น ซึ่งได้มีการหาข้อมูล แต่ก็ยังไม่สามารถตอบได้อย่างแน่ชัดว่า ถ้า อี-สปอร์ต เป็นกีฬา เด็กจะติดเกมมากขึ้นไหม ซึ่งฝั่งสนับสนุนบอกว่า อี-สปอร์ต ต่างจากเด็กติดเกม อี-สปอร์ต เป็นนักกีฬา

ดังนั้น จึงมีการแบ่งกลุ่มออกเป็น 3 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มนักกีฬา ที่มีการฝึกซ้อมอย่างจริงจัง มีการวางแผนเล่นเป็นระบบ 2.กลุ่มที่เล่นเกมเพื่อการผ่อนคลาย 3.กลุ่มเล่นจนติด คำถาม คือ แม้ไม่ประกาศว่า อี-สปอร์ต เป็นกีฬา กลุ่มเด็กติดเกมยังติดเกมอยู่ไหม กลุ่มกีฬายังเล่นอยู่ไหม สรุป การประกาศหรือไม่ประกาศ ทุกคนยังเล่นอยู่ เรื่องปัญหาเด็กติดเกมต้องแก้ไข แต่การเอาปัญหามาปิดกั้นกลุ่มที่ไปต่อได้ มีโอกาสพัฒนาต่อยอดเป็นอุตสาหกรรม จะตอบคำถามอย่างไร ดังนั้น ต้องแยกเป็นส่วนๆ